ในปีพุทธศักราช ๒๓๗๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือที่เรียกกันว่าวัดโพธิ์ ทรงประกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คัดเลือกสรรพศิลปวิทยาการต่างๆ เช่น ตำราการแพทย์ โบราณคดี และวรรณกรรม โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนทั้งหลาย ฯลฯ มาจารึกลงบนแผ่นหินอ่อนประดับไว้ตามบริเวณผนัง เสาพระระเบียงรอบพระอุโบสถ พระวิหาร พระวิหารคด และศาลารายรอบพระมณฑปภายในวัด

จารึกวัดโพธิ์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO) (มีปรากฏอยู่ในปัจจุบันจำนวน 1,431 แผ่น)
โคลงกลบทวัดโพธิ์หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม รวบรวมจากผลงานทั้งบทพระราชนิพนธ์ บทพระนิพนธ์ แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของกวีที่นอกจากการแต่งไปตามบังคับของฉันทลักษณ์ บางอย่างต้องมีสูตรเฉพาะ เรียก “โคลงกล” หรือ “กลโคลง” ประกอบด้วยจารึกจำนวนทั้งสิ้น 8 แผ่น เนื้อความกลโคลง 38 กล ประดับไว้ที่เสาพระระเบียงชั้นนอก ทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ ปัจจุบันประตู 2 ทิศตะวันออกปิดบูรณะ จึงตัดออก 11 กลโคลง และตัดบทที่ยังมีข้อกังขาในการถอนกลอีก 2 บท และคัดเลือกมานำเสนอเพียง 25 กลโคลง
ทิศเหนือ
ประตู 2 ฝั่งขวา
กลโคลง
กาโกโลกไนย
ผู้ประพันธ์: ขุนมหาสิทธิโวหาร
พรรณนาความทุกข์ของกวีที่คำนึงถึงนางอันเป็นที่รักที่เคยอยู่ร่วมกัน แล้วมีเหตุให้พรากจากกันไป ว่าเป็นทุกข์กลุ้มรุมจิตใจอย่างใหญ่หลวง และให้ถวิลหาด้วยความรักความรัญจวนใจ
กลโคลง
พรางขบวน
ผู้ประพันธ์: กรมหมื่นไกรสรวิชิต
บทชมโฉมสตรีนางหนึ่ง ว่ามีวงพักตร์ผ่องงามเหมือนพระจันทร์ คมเนตรหวานคมประหนึ่งดอกศรที่แผลงมาต้องกวี ทั้งยังเป็นผู้งามพร้อมด้วยกิริยามารยาตร และเป็นเลิศด้วยศักดิ์ตระกูลอันงาม
กลโคลง
กบเต้นใต่ระยาง
ผู้ประพันธ์:กรมหมื่นไกรสรวิชิต
พรรณนาถึงความทุกข์ของกวี ถึงนางอันเป็นที่รักที่เคยมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้ง แล้วพลันต้องหายหน้าไป จะด้วยความรักที่จืดจางลง หรือเพราะมีรักใหม่ จึงทิ้งไปไม่ส่งข่าวให้รู้
กลโคลง
ช้างประสารงา
ผู้ประพันธ์: หลวงนายชาญภูเบศ
เนื้อความคล้ายเพลงยาวพรรณนาร้อนรน ทุรนทุรายในความรัก จึงเขียนสารส่งไปให้แจ้งความรู้สึก และตั้งความหวังว่านางจะมิตรใจตอบสารมาให้ทราบความ
ประตู 2 ฝั่งซ้าย
กลโคลง
จาตุรทิศ
ผู้ประพันธ์: หลวงนายชาญภูเบศร
กวีเปรียบดอกบัวอันงามพิสุทธิ์ เลิศด้วยกลิ่นรสอันความถนอม กับความรักที่กวีมีต่อสตรีนางหนึ่ง ว่ารักนางประหนึ่งรักชีวิตของตน แลปองอยู่เป็นคู่ถนอม
กลโคลง
จักรราษี
ผู้ประพันธ์: ขุนมหาสิทธิโวหาร
เนื้อหาแสดงชื่อจักรราศี ทั้ง ๑๒ ราศี อันประกอบด้วยราศีเมษ พฤษภ เมถุน กรกฏ สิงห์ กันย์ ตุลย์ พิจิก ธนู มังกร กุมภ์ และมีน อันขุนโหรแสดงไว้ให้รู้
กลโคลง
นาคโสณฎิก
ผู้ประพันธ์:ขุนมหาสิทธิโวหาร
พรรณนาความวิปโยค เป็นทุกข์ที่นางอันเป็นที่รักซ่อนหน้าไว้มิให้พบกัน
กลโคลง
ดาวล้อมเดือน
ผู้ประพันธ์:กรมหมื่นนุชิตชิโนรส
แสดงสัจธรรม ว่าหากประพฤติบุญ ผลบุญย่อมเกื้อหนุนให้ได้รับยศศักดิ์ หากทำบาป ผลบาปย่อมชักนำสิ่งเป็นอกุศลมาสู่ หากครองซึ่งความสัตย์ ย่อมได้รับคุณเป็นที่ประจักษ์ ในทางกลับกัน หากกล่าวคำเท็จ ย่อมเกิดโทษแก่ตนในภายหลัง
ทิศตะวันออก
ประตู 1 ฝั่งขวา
กลโคลง
รวงผึ้ง
ผู้ประพันธ์: พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เนื้อความเป็นการพรรณนาความเชิงสังวาส แสดงความรู้สึกที่มีต่อนางอันเป็นที่รัก ว่ารักนางยิ่งด้วยชีวิตตนด้วยความเสน่หาที่หมายจะมอบให้ และความทุกข์ที่ยากจะหยั่งน้ำใจว่านางรู้สึกตอบเช่นไร

อนึ่ง ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร อธิบายว่า กลโคลงนี้สามารถถอนกลได้ทั้งสิ้น ๓๖ แบบ
กลโคลง
จองถนนควรจะอ่านให้ถูกที่เอกถูกที่โท
ผู้ประพันธ์: พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พรรณนาความธรรมชาติยามราตรีว่า พระจันทร์ส่องสว่างปราศจากเมฆหมอกละอองมาบัดบังรัศมีอันงาม รอบข้างประดับด้วยดวงดาราอันงาม แวดล้อมพระจันทร์เพ็ญไว้ท่ามกลาง
กลโคลง
ตะรางเพชร
ผู้ประพันธ์: พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พรรณนาเชิงนิราศ โดยใช้ความเปรียบเมื่อได้ยินเสียงนกร้อง ให้ประหวั่นคิดว่าเป็นเสียงนางอันเป็นที่รักเพรียกหาให้ถวิลถึง
กลโคลง
วลสมุท
ผู้ประพันธ์:พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เนื้อความมีลักษณะเป็นการยอพระเกียรติว่ากอปรด้วยฤทธิ์ทั้ง ๔ คือ เทวฤทธิ์ ราชฤทธิ์ อิทธิฤทธิ์ และบุญฤทธิ์
กลโคลง
รังนกกระจาบ
ผู้ประพันธ์:พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นการพรรณนาเชิงนิราศว่าเห็นนกเคล้าคู่อยู่เคียงกันให้นึกถึงครั้งที่เคยอยู่ร่วมกับนางอันเป็นที่รัก ทั้งยังอ้างเรื่องกรรมเป็นเหตุให้ต้องพลัดพรากจากกัน โดยเปรียบว่าแม้จากกันเป็นครู่ แต่ในความรู้สึกนานราวขวบปีให้เป็นที่ทุกข์ยิ่งนัก
ประตู 1 ฝั่งซ้าย
กลโคลง
จัตวาทันทีโท
ผู้ประพันธ์: พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เนื้อความว่าด้วยความฉิบหายอันเกิดแต่การเป็นนักเลงการพนัน เป็นเหตุเสียทรัพย์ถึงฉิบหาย
กลโคลง
ประดิดคนเขลา
พรรณนาความรุ่งเรืองของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งในโคลงใช้ว่าอยุธยาว่าเป็นเมืองที่มีความรุ่งเรือง เพียบพร้อมด้วยอิสริยยศเสมอด้วยสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อันเป็นที่ประทับของพระอินทร์ อันแสดงสถานภาพของพระมหากษัตริย์ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ว่าเทียบด้วยพระอินทร์ผู้ถึงพร้อมด้วยสมโพธิญาณ ยังให้เกิดทรัพย์สมบัติ ตลอดจนการค้าเป็นที่เลื่องลือ
กลโคลง
ประดิดเดกเหล้น
เนื้อความเป็นเหมือนบทร้องเล่นสำหรับเด็ก ว่าด้วยกิริยาของเสือที่ซุ่มคอยโจมจับเหยื่อ
ทิศใต้
ประตู 1 ฝั่งขวา
กลโคลง
พรหมภักตร์
ผู้ประพันธ์: กรมหมื่นไกรสรวิชิต
เนื้อความพรรณนาความหวาดวิตก ความทุกข์ร้อนอันเนื่องมาจากความรัก
กลโคลง
ฟักแฝด
เนื้อความมีลักษณะคล้ายเพลงยาวแสดงนัยตัดพ้อของกวีต่อนางอันเป็นที่รัก เป็นทีว่าที่กวีกล่าวถาม แสดงความรักนั้น นิ่งไปเพราะเหตุเคืองคำ หรือเพราะร้างรักไปมีรักอื่นหรืออย่างไร
กลโคลง
หลงห้อง
พรรณนาความเชิงนิราศว่าด้วยกรรมแต่หนหลังทำให้ต้องพลัดพรากจากกัน ขอน้องที่อยู่ข้างหลังจงระมัดระวังตัว ส่วนตัวกวีที่จากไปยังคงมีใจจดจ่อถึงนางอันเป็นที่รัก
กลโคลง
ราชวัด
กล่าวถึงเล่ห์มารยาสตรีว่าลึกซึ้งเหลือประมาณ แม้ชายที่เชี่ยวชำนาญในกลสตรี ยังยากที่จะหยั่งรู้ได้
กลโคลง
สลับห้อง
ผู้ประพันธ์: หลวงนายชาญภูเบศ
เนื้อความเป็นเชิงบริภาษสตรีว่า ความรักที่กวีมีให้ แต่ไฉนจึงริมีรักเผื่อแผ่ไปหลายคน
ประตู 1 ฝั่งซ้าย
กลโคลง
เฟื่อง ๔ ตอน
ผู้ประพันธ์: พระเทพย์โมลี
เนื้อความแสดงสัจธรรม ว่าสัตว์โลกทั้งปวงย่อมเป็นที่น่าสังเวช เมื่อตายละจากโลกนี้ บุญและกรรมย่อมส่งให้ยังเวียนว่ายในวัฏสงสาร จึงมีแต่พระนิพพานเป็นความสุขสูงสุด
กลโคลง
ตรีพจนบท
เนื้อความอธิบายลักษณะกลว่าสามารถถอนกลได้ ๓ แบบ ทั้งนี้ให้พิจารณาจากสัมผัสเป็นสำคัญ
กลโคลง
นกนำฝูง
พรรณนาธรรมชาติ ตั้งแต่จตุบท ทวิบาท สระโบกขรณี และเทือกเขาที่ทอดตัวเป็นระเบียบ ยอดเสียดฟ้า
กลโคลง
แยกทาง
พรรณนาฝากความรักความสเน่หาที่มีต่อนางอันเป็นที่รัก ว่าล้วนแต่เป็นคำสัตย์ มิใช่คำลวงให้แหนงใจ